เทคนิคการผ่าตัดแปลงเพศ

 เทคนิคการผ่าตัดสร้างช่องคลอด มีรายละเอียดแตกต่างกัน แบ่งคร่าวๆ ดังนี้
     
 เทคนิคที่ 1 การสร้างช่องคลอดโดยใช้หนังอวัยวะเพศทั้งหมด (ไม่ใช้กราฟ) (penile-skin inversion) ในกรณีที่อวัยวะเพศชายยาวและใหญ่มากและไม่เคยผ่าตัดขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ (circumcision) มาก่อน จึงไม่จำเป็นจะต้องต่อความยาวเพิ่มขึ้น
 
 เทคนิคที่ 2 การสร้างช่องคลอดโดยใช้หนังอวัยวะเพศ และเพิ่มความยาวโดยหนังจากอัณฑะ (penile – skin inversion with scrotal graft) ในกรณีผู้ที่หนังหุ้มอวัยวะเพศไม่ยาวมาก มักจะเพิ่มความยาวโดยใช้หนังจากอัณฑะ (scrotal graft) เพราะเป็นผิวหนังที่มีส่วนเกินอยู่แล้วสามารถตัดมาใช้ได้โดยไม่มีแผลเป็นเพิ่ม
 
 เทคนิคที่ 3 การสร้างช่องคลอดโดยหนังอวัยวะเพศ และเพิ่มความยาวโดยใช้ผิวหนังเพิ่มจากต้นขา ใช้กรณีที่หนังหุ้มอวัยวะเพศมีน้อยและไม่เพียงพอ สามารถเพิ่มความยาวได้โดยใช้ผิวหนังจากบริเวณอื่นตำแหน่งหนังที่นิยมนำมาใช้ได้แก่ หน้าท้องส่วนล่าง (upper bikini line), ขาหนีบและก้น โดยแผลที่เย็บบริเวณนั้นๆ จะมองเห็นไม่ค่อยชัด เพราะเป็นรอยพับของผิวหนังพอดี
 
 เทคนิคที่ 4 การผ่าตัดแบบ 2 ระยะ (2 stage technique)
การผ่าตัดที่ครั้งแรกเตรียมช่องว่างสำหรับช่องคลอดไว้หลังจากนั้นประมาณ 2 – 4 วัน จะเอาผิวหนังที่เตรียมไว้มาวางเป็นผนังช่องคลอด วิธีนี้ต้องผ่าตัด 2 ครั้ง
  
เทคนิคที่ 5 การต่อลำไส้ (Primary colon vagioplasty)
ใช้ในกรณีที่หนังหุ้มอวัยวะเพศเล็กและสั้นมาก การใช้ผิวหนังสำหรับเพิ่มความยาวต้องใช้มากการใช้ลำไส้จะเป็นทางเลือกที่ดีการผ่าตัดทำโดยศัลยแพทย์ 2 ทีม โดยทีมที่ 1 เปิดแผลหน้าท้องตัดต่อลำไส้แล้วนำลงมาต่อกับช่องคลอดด้านล่าง ที่เตรียมโดยทีมที่ 2

คุณสมบัติผู้รับการผ่าตัด

       การผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิงเป็นการผ่าตัดเพื่อตกแต่งอวัยวะเพศภายนอกให้มีรูปร่างเหมือนอวัยวะเพศหญิงและสร้างช่องคลอดใหม่ เทคนิควิธีการผ่าตัดได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงมา ปัจจุบันมีรูปร่างที่คล้ายอวัยวะเพศหญิงมากโดยที่รูปร่างภายนอกจะประกอบด้วยแคมนอก,แคมใน, คลิปทอริส ส่วนช่องคลอดมีเทคนิคที่ใช้แตกต่างกัน โดยอาจใช้ผิวหนังบริเวณอวัยวะเพศหรือใช้หนังอัณฑะหรือใช้ทั้งสองอย่าง

 
        ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศ จะต้องรับการตรวจจากจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาว่าได้ผ่านการทดสอบโดยคุณสมบัติ ความพร้อมมาตรฐานโลกของสมาคม แฮรี-เบนจามิน ดังนี้
     
1. มีอายุอย่างน้อย 18 ปี โดยต้องได้รับความยินยอมจากพ่อแม่ถ้าอายุน้อยกว่า 20 ปี
2. ได้ดำรงชีวิตแบบหญิงติดต่อกันเป็นระยะเวลาที่ยาวนานกว่า 1 ปีขึ้นไป
3. เคยใช้ชีวิตเป็นหญิงอย่างสมบูรณ์ที่คนรอบข้างยอมรับได้และคุณมีความสุขโดยไม่มี ความกดดันใดๆ
4. เคยรับประทานฮอร์โมนเพศหญิงมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นในรูปยารับประทานหรือยาฉีดอย่างน้อย 1 ปี
5. ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น Gender identity disorder, Gender Dysphoria
6. ได้ผ่านการประเมินสภาพจิตใจว่าอยู่ในภาวะที่ปกติและพร้อมต่อการผ่าตัดโดยจิตแพทย์หรือนักจิตเวช และให้ใบรับรองสำหรับการผ่าตัดอย่างถูกต้องตามหลักการทดสอบสภาพจิต